อาการปวดท้องจากไส้ติ่งอักเสบนั้น หลายๆคนมักคิดว่าเป็นอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะ หรือภาวะท้องเสีย กันก็มีนะคะ ซึ่งบางครั้งกว่าจะรู้ตัวก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะ “ไส้ติ่งแตก” ที่มีอันตรายถึงชีวิตกันเลยนะคะ โดยหากไม่แน่ใจว่า ลักษณะอาการปวดท้องที่เป็นอยู่นั้น เกิดจากภาวะ “ไส้ติ่งอักเสบ” หรือไม่ บทความนี้จะมานำเสนอความรู้เกี่ยวกับภาวะ ไส้ติ่งอักเสบ พร้อมทั้งข้อสังเกตที่จะช่วยให้คุณรู้คำตอบกันค่ะ ว่าอาการไส้ติ่งอักเสบ เป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุใดบ้าง มาดูไปพร้อมกันเลยค่ะ

 

สาเหตุการเกิด ไส้ติ่งอักเสบ

 

 

โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) มักเกิดจากของเสีย สิ่งแปลกปลอม หรืออุจจาระที่เคลื่อนลงไปอุดตันในไส้ติ่ง ทำให้เกิดแบคทีเรียสะสม มีเลือดคั่ง และกระจายไปที่ผนังไส้ติ่ง จนเกิดการอักเสบกลายเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบในที่สุด ซึ่งหากไส้ติ่งแตกทะลุจนเกิดการติดเชื้อในช่องท้องแล้ว จะกลายเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการที่บ่งชี้ว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ

 

โดยอาการจะแบ่งออกเป็นตามระยะของโรค ได้แก่

ระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มแรกที่ไส้ติ่งเริ่มอุดตัน
จะมีอาการปวดท้องบริเวณรอบสะดืออย่างฉับพลัน จุกแน่นท้อง เบื่ออาหาร ลักษณะอาการมีความใกล้เคียงกับโรคอื่น เช่น โรคกระเพาะ ที่มักมีอาการปวดแสบลิ้นปี่ ก่อนหรือหลังมื้ออาหาร แต่อาการจะทุเลาลงหลังทานยาลดกรด,โรคนิ่วในถุงน้ำดี ที่มักมีอาการปวดบิดเกร็งบริเวณลิ้นปี่ และใต้ชายโครงขวา หรือ โรคท้องเดิน ที่มักมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ รอบสะดือ ร่วมกับอาการถ่ายเหลว แต่ทั้ง 3 โรคนี้ จะไม่มีอาการเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา หากมีอาการปวดตรงท้องน้อยด้านขวาร่วมด้วยแล้ว ให้สงสัยว่าอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้นะคะ

ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ไส้ติ่งเริ่มบวม
โดยจะมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา หากมีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ไอ จาม จะรู้สึกเจ็บมากขึ้น บางรายอาจมีท้องเสียร่วมด้วย มีอาการปวดติดต่อกันเป็นเวลานานปวดแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจมีอาการปวดนานถึง 6 ชั่วโมง และไม่สามารถบรรเทาอาการปวดด้วยการทานยาได้ค่ะ

ระยะที่ 3 เป็นระยะที่อันตรายเพราะไส้ติ่งแตก
และเชื้อแบคทีเรียกำลังแพร่กระจายในช่องท้อง จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ขึ้น และหากไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้เชื้อโรคกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เสียชีวิตได้

การวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบ

 

– ตรวจเลือด แพทย์จะทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจดูว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวเยอะหรือไม่ หากเม็ดเลือดขาวมีปริมาณมากแล้ว จะสามารถบ่งบอกถึงภาวะการติดเชื้อได้

– ตรวจอัลตราซาวด์ หรือตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยเครื่อง CT SCAN

สำหรับการผ่าตัดไส้ติ่งนั้น มี อยู่ 2 แบบนะคะ คือ การผ่าตัดไส้ติ่งแบบเปิด และ แบบส่องกล้อง (MIS) นั่นเองค่ะ มาดูรายละเอียดของการผ่าตัดทั้งสองแบบกันค่ะ

 

1. การผ่าตัดไส้ติ่งแบบเปิด

ผู้ป่วยจะมีบาดแผลบริเวณท้องน้อยด้านขวา ใช้ระยะเวลาพักฟื้นนาน

2. การผ่าตัดไส้ติ่งแบบส่องกล้อง

ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเล็กเพียง 2-3 แผล คือ แผลบริเวณใต้สะดือ บริเวณด้านซ้ายและด้านขวาของท้องน้อย หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยจึงจะปวดแผลน้อย และเป็นการผ่าตัดที่ใช้กล้องส่องจึงทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โอกาสเกิดพังผืดหลังผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดมีน้อย ที่สำคัญ คือใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน เพียง 1-2 วัน ผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้ค่ะ

เป็นไส้ติ่งอักเสบจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดได้หรือไม่นั้นมาดูคำตอบกันค่ะ

 

การรักษาไส้ติ่งอักเสบนั้น จะมีเพียงการผ่าตัดเอาไส้ติ่งที่อักเสบออกเท่านั้นนะคะ โดยต้องผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพราะหลังจากเกิดการอักเสบแล้ว ไส้ติ่งอาจจะเน่า และแตกทะลุภายใน 24-36 ชั่วโมงนั่นเองค่ะ หากไส้ติ่งแตกจะมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเกิดจากภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และมีภาวะช็อกได้นั่นเองค่ะ

ต่อไปเรามาดู ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการเป็นไส้ติ่งอักเสบกันบ้างนะคะ

บางคนอาจมีความเชื่อว่า การรับประทานเม็ดฝรั่ง หรือเม็ดของผลไม้อื่น ๆ จะทำให้เกิดการอุดตันที่ไส้ติ่ง และส่งผลให้เกิดไส้ติ่งอักเสบขึ้นนั้น ความจริงแล้วสิ่งที่ไปอุดตันในไส้ติ่งนั้นส่วนใหญ่นั้น จะเป็นอุจจาระของคนเราเองนะคะ สาเหตุที่มาจากการรับประทานเม็ดของผลไม้นั้น มีความเป็นไปได้บ้าง แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยมากๆนั่นเองค่ะ

 

 

เพราะภาวะไส้ติ่งอักเสบ เกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย เมื่อมีอาการผิดปกติข้างต้น อย่ามัวหายาทานเองกันนะคะ และคิดว่าเดี๋ยวก็คงหาย แต่ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อการผ่าตัดรักษาที่ทันท่วงทีนะคะ เพราะ “ภาวะไส้ติ่งแตก” ไม่ใช่เรื่องเล็กเลยนะคะ เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วนที่สุดเลยค่ะ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ หรือความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตนั่นเองค่ะ ดังนั้นหากพบว่าตนเอง หรือคนใกล้ชิดในครอบครัว มีอาการที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะเป็นไส้ติ่งอักเสบแล้วละก็ ควรต้องรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และทำการรักษาต่อไปให้เร็วที่สุดเลยนะคะ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของเราและคนที่เรารักนั่นเองค่ะ