จากกรณีข่าวของหญิงสาวคนหนึ่งเป็นลมวูบขณะไปทำบุญกับเพื่อนสนิท ก่อนเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในเวลาต่อมา ทำให้ครอบครัวรู้สึกติดใจสาเหตุการเสียชีวิต ก่อนที่แพทย์จะพบว่ามีสารพิษกลุ่มไซยาไนด์อยู่ในเลือดของผู้เสียชีวิต จึงนำไปสู่สืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็น “การฆาตกรรม” โดยฝีมือของเพื่อนผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ยังตรวจพบขวดไซยาไนด์สารเคมีอันตรายภายในบ้านของผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าว ซึ่งได้รับคำยืนยันในเวลาต่อมาว่าเป็น “โพแทสเซียมไซยาไนด์บริสุทธิ์ 100%” ล่าสุดพบว่ายังมีเหยื่อที่เสียชีวิตในลักษณะที่คล้ายกัน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยคนนี้อีกหลายคนเลยนะคะ ดังนั้นบทความจึงจะมานำเสนอความรู้และอันตรายต่างๆของสารพิษตัวนี้กันค่ะ ว่า ไซยาไนด์ คืออะไร และมีอันตรายแค่ไหน ยังไงบ้าง เรามาดูไปพร้อมๆกันเลยค่ะ

 

 

Cyanide หรือไซยาไนด์ คือ สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ร่างกาย อาจจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีพันธะคาร์บอนไนโตรเจน (CN) มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร Cyanide สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด อย่างอัลมอนด์ แอปเปิล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์  อย่างไรก็ตาม Cyanide ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

 

 

รูปแบบของ Cyanide ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

 

 

สารเคมีอันตรายชนิดนี้มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยแต่ละชนิดมีแหล่งที่มาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. Sodium cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้

2. Potassium cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อ Potassium cyanide เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

3. Hydrogen cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา

4. Cyanogen chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน  และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม

 

อันตรายจาก Cyanide

 

Cyanide สามารเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ระคายเคืองบริเวณที่สัมผัสอย่างผิวหนังหรือดวงตา ร่างกายอ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น โดยความรุนแรงของอาการนั้นอาจขึ้นอยู่กับชนิดของ Cyanide ปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับนั่นเองค่ะ

โดยผลกระทบจากการได้รับ Cyanide อาจแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

 

1. ภาวะเป็นพิษจาก Cyanide แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่พบได้ยาก เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการ เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น

2. ภาวะเป็นพิษจาก Cyanide แบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับ Cyanide ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

 

วิธีรับมือหากสัมผัสกับ Cyanide

 

Cyanide เป็นสารเคมีอันตราย หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการรับมือกับ Cyanide อาจทำได้ ดังนี้

– การสัมผัสทางผิวหนัง หากร่างกายสัมผัสกับ Cyanide ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อน Cyanide ไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับพิษจาก Cyanide ไปด้วย จากนั้นจึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล

– การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอากาศที่มี Cyanide ปนเปื้อนควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ

– การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ
**สิ่งของบางอย่างที่ปนเปื้อน Cyanide อาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ต้องทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารพิษอย่างถูกวิธีก่อนนำกลับมาใช้ สำหรับคอนแทคเลนส์ หรือเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนควรเก็บใส่ถุงพลาสติกที่มิดชิดและกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ

 

วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ Cyanide

การหลีกเลี่ยงและลดโอกาสในการสัมผัสกับ Cyanide อาจทำได้ ดังนี้

– งดสูบบุหรี่
– เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
– ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสการสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
– ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อน Cyanide ออกนอกสถานที่ทำงานหรือนำกลับบ้าน
– ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจาก Cyanide อาจมาในรูปแบบของควันได้
– สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี หรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของ Cyanide
– ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง เช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 

 

จากพิษที่แสนอันตรายนี้เอง ไซยาไนด์โซเดียมไซยาไนด์ หรือ โปรแตสเซียมไซยาไนด์ จึงถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั่นเองค่ะ