บทวามนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง อัปเดตเงื่อนไขต่างๆ ของการนำ Power Bank ขึ้นเครื่องบินกันนะคะ การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นมีกฎระเบียบที่เกี่ยวกับ Power Bank อยู่ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำรองไฟที่บรรจุพลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก หากเกิดความร้อนสูง หรือมีการลัดวงจร อาจทำให้เกิดระเบิดหรือไฟไหม้ได้ สายการบินจึงต้องเข้มงวดกับการพกพา Power Bank ขึ้นเครื่องบินของผู้โดยสารมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมนั่นเองค่ะ ในปัจจุบันเรายังสามารถพก Power Bank ขึ้นเครื่องบินกันได้เหมือนเดิมนะคะ เพียงแต่จะมีกฎข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้น ตามมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้นั่นเองค่ะ โดยการนำ Power Bank ขึ้นเครื่องบิน จะมีเงื่อนไขดังนี้ค่ะ

 

 

อัปเดตเงื่อนไขต่างๆ ของการนำ Power Bank ขึ้นเครื่องบิน

 

 

 

 

1. จำกัดขนาดความจุไฟฟ้า ทุกสายการบิน ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศหรือระหว่างประเทศ จะระบุความจุไฟฟ้าของ Power Bank ที่นำขึ้นเครื่องบินได้ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งตามระเบียบสากลที่อิงจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) กำหนดไว้ดังนี้

– แบตเตอรี่สำรองที่มีความจุของกระแสไฟฟ้าน้อยกว่า 20,000 mAh (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 Wh) สามารถนำขึ้นเครื่องได้โดยไม่จำกัดจำนวน (กี่ก้อนก็ได้) – แบตเตอรี่สำรองที่มีความจุของกระแสไฟฟ้า 20,000-32,000 mAh (มากกว่า 100 Wh ถึง 160 Wh) สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน (ได้แค่ 2 ก้อนเท่านั้น)

– แบตเตอรี่สำรองที่มีความจุของกระแสไฟฟ้ามากกว่า 32,000 mAh (มากกว่า 160 Wh) ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ในทุกกรณี (ห้ามนำขึ้นเครื่องโดยเด็ดขาด)

 

2. นำขึ้นเครื่องด้วยการถือขึ้นพร้อมผู้โดยสารเท่านั้น แบตเตอรี่สำรองที่ได้รับอนุญาตให้นำขึ้นเครื่อง ไม่ว่าจะความจุเท่าไรก็ตาม จะต้องถือขึ้นเครื่องด้วยตนเองเท่านั้น “ห้าม” นำใส่ในกระเป๋าใบใหญ่ที่โหลดใต้เครื่องบินโดยเด็ดขาด เนื่องจากแบตเตอรี่เกิดความร้อนได้ง่ายมาก อาจทำให้เกิดการระเบิดและไฟไหม้ได้ทุกเมื่อ ถ้านำไปโหลดเป็นสัมภาระใต้เครื่องที่ไม่มีคนเฝ้า จะไม่มีใครรู้หากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน แต่เมื่อนำขึ้นมาที่ห้องโดยสาร จะสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย หากมีควันหรือประกายไฟ จะได้แก้ปัญหากันได้ทันท่วงที

 

 

 

 

3. เป็นแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐาน มีฉลากระบุรายละเอียดชัดเจน Power Bank ที่สายการบินอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้ จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน กรณีที่เป็นแบตเตอรี่สำรองแฟชั่นหรือของเลียนแบบ (ของปลอม) ที่ไม่ได้มาตรฐาน จะไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้โดยเด็ดขาด

 

นอกจากนี้ ให้พิจารณา

– ความน่าเชื่อถือของแบรนด์

– โรงงานผ่านการรับรองมาตรฐานสากล เช่น CE, FCC เเละ RoHS

– ผ่านการรับรองมาตรฐาน มอก. ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในประเทศหรือแบตสำรองนำเข้า

– มีฉลากระบุความจุกระแสไฟฟ้า วัตต์-ชั่วโมง (Watt-Hour) หรือขนาดบรรจุลิเธียม (Lithium Content) ชัดเจน

– ความเหมาะสมในการใช้งาน หากความจุมากน้ำหนักแบตสำรองก็มากตาม

– ตรวจสอบอยู่เสมอว่าการทำงานผิดปกติหรือไม่ เช่น ความร้อนสูงผิดปกติ หรือมีรูปร่างผิดปกติไปจากเดิม เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ผู้โดยสารท่านอื่น และการเดินทางโดยเครื่องบิน