บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับ แอพพลิเคชั่นสถานีชาร์จรถไฟฟ้า 2023 มีแอพฯใดที่น่าสนใจบ้าง ฟังก์ชันการใช้งานเป็นอย่างไร พร้อมคิดอัตราค่าบริการอย่างไร รวมไว้ที่นี่แล้วค่ะ

ในตอนนี้จะเห็นได้ว่า กระแสผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) กำลังมาแรงอย่างต่อเนื่องกันเลยนะคะ โดยค่ายรถยนต์หลายๆ แบรนด์ เริ่มทยอยมอบรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีบางส่วนสงสัยว่า แม้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงกังวลเรื่องของการชาร์จหากไฟฟ้าเริ่มหมดหรือเหลือน้อยจะสามารถชาร์จไฟได้ที่ไหนบ้าง ทำให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนต่างเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย และครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากขึ้น ที่สำคัญยังมีแอปพลิเคชันในการช่วยค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้สะดวกให้ง่ายต่อการใช้งานอีกด้วยค่ะ

 

 

ก่อนจะเข้าเรื่องแอพฯ หาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากันก่อนนะคะ โดยหลักๆแล้วแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทหลักๆค่ะ คือ AC Charge กับ DC Charge

• AC Charge หรือการชาร์จไฟแบบธรรมดา
โดยจ่ายไฟฟ้าแบบกระแสสลับซึ่งต้องใช้เวลาในการชาร์จค่อนข้างนานเพราะการปล่อยไฟค่อนข้างน้อย หากชาร์จเต็มจะใช้เวลาประมาณ 7-10 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับอัตราการจ่ายกระแสไฟฟ้าของเครื่องนั้นๆ และความจุแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าของคุณ)

• ส่วน DC Charge หรือการชาร์จไฟแบบเร็ว (Quick Charge)
จะเป็นการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ทำให้การชาร์จแบตเตอรี่ 0-80% ใช้เวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนจะนานขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ภายในรถของคุณเช่นกัน

รวมแอพพลิเคชั่นสถานีชาร์จรถไฟฟ้า 2023

1. MEA EV

แอพฯที่จัดทำโดยการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ใช้สำหรับค้นหา จอง และชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิดทุกค่ายทั่วไทย จุดเด่นของแอพฯ นี้ อยู่ที่คุณสามารถวางแผน และคำนวณเส้นทาง พร้อมระบุจุดแวะพักระหว่างทาง อีกทั้งยังสามารถจองตู้ชาร์จของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในเครือการไฟฟ้านครหลวงได้อีกด้วยค่ะ สะดวกง่ายดายเนื่องจากรองรับทั้งระบบชาร์จ AC และ DC โดยในปัจจุบันมีจำนวนให้บริการทั้งสิ้น 34 สถานี 138 หัวจ่าย ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 500 หัวจ่ายภายในปี 2569
• อัตราค่าบริการ 7.5 บาท/หน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

 

2. PEA VOLTA 

แอพฯต่อไปจัดทำโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ. หรือ PEA) กับ PEA VOLTA ซึ่งเปิดให้ใช้บริการเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐาน จุดเด่นอยู่ที่การช่วยค้นหาสถานีสำหรับชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมระบุผลการค้นหาตำแหน่งสถานีที่ตั้งที่อยู่ใกล้เคียงกับผู้ใช้ในรูปแบบแผนที่ พร้อมนำทางไปยังสถานีด้วย GPS ที่จะคำนวณระยะทางจากตำแหน่งปัจจุบัน พร้อมทั้งเวลาและจำนวนการเดินทางโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ สถานีชาร์จฯ PEA VOLTA มีจำนวนให้บริการทั้งสิ้น 118 สถานี และภายในปี 2566 ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 263 สถานี รวมกว่า 1,000 หัวจ่าย
• อัตราค่าบริการ ช่วง Peak 6.90 บาท/หน่วย และช่วง Off Peak 4.50 บาท/หน่วย

 

3. EleXA

แอพฯ ที่จัดทำโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. – EGAT)  ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานสถานีชาร์จ “EleX by EGAT” ตั้งแต่ค้นหาสถานี จองคิวชาร์จ และจ่ายค่าบริการ มาพร้อมบริการสอบถามปัญหาการใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทาง Line : @ElexaEV อีกด้วย ส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้า EleX by EGAT ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 50 แห่ง (อัพเดทล่าสุด ก.พ.2566)  พร้อมให้บริการทั้งในสถานีบริการน้ำมัน PT รวมทั้งภายในเขื่อน โรงไฟฟ้า และศูนย์การเรียนรู้ของ กฟผ. โดยตั้งเป้าจะขยายสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นเป็น 150 แห่ง ภายในสิ้นปี 2566
• อัตราค่าบริการ แบ่งออกได้ดังนี้
1. ในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน PT ตู้ชาร์จ AC ขนาด 22 kW 7.5 บาท/หน่วย และตู้ชาร์จแบบ DC ขนาด 120 kW 7.5 บาท/หน่วย
2. ในพื้นที่ กฟผ. ตู้ชาร์จ AC ขนาด 22 kW 5.5 บาท/หน่วย และตู้ชาร์จ DC ขนาด 50 kW 6.5 บาท/หน่วย

4. EA Anywhere

แอปฯ ที่จัดทำขึ้นโดย บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) โดยสถานี EA Anywhere ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่คุณสามารถค้นหาสถานีได้สะดวก พร้อมระบบช่วยนำทางไปยังสถานีชาร์จที่ผู้ใช้ต้องการใช้บริการ โดยปัจจุบันมีจำนวนมีจำนวนให้บริการทั้งสิ้นกว่า 500 สถานี (อัพเดทล่าสุด สิ้นปี 2565)
• อัตราค่าบริการ
1 แบบ AC Charger แยกเป็นรายชั่วโมง คือ 1 ชม. 50 บาท / 2 ชม. 80 บาท / 3 ชม. 110 บาท และ 4 ชม. 150 บาท
2 แบบ DC Charger เริ่มต้นที่ 6.50 บาท และ 7.50 บาท/kWh

5. EV Station PluZ

แอพฯ ค้นหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในเครือ ปตท. ตอบโจทย์ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ PHEV รวมทั้งรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยสามารถเช็กความพร้อมในการให้บริการของแต่ละสถานี และเช็กสถานะขณะชาร์จได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังมีบริการจองเวลาชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าล่วงหน้า ปัจจุบันมีจำนวนสถานีมากกว่า 300 แห่ง (อัพเดทล่าสุด ก.พ.2566) และจะขยายเพิ่มอีก 500 แห่งในปี 2566 ครอบคลุมการเดินทางบนถนนสายหลักทั่วประเทศ และตั้งเป้าที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 สถานี ภายในปี 2573
• อัตราค่าบริการ แบ่งได้ดังนี้
1. ค่าชาร์จ ช่วง On-Peak ราคา 7.5 บาท/หน่วย ส่วนช่วง Off-Peak 4.5 บาท/หน่วย
2. ค่าจองเวลาชาร์จล่วงหน้า 20 บาทต่อช่วงเวลา

6. EVolt

แอพฯ ที่ให้คุณสามารถค้นหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้าได้สะดวกและง่ายดายผ่านมือถือ โดยสามารถดูข้อมูลได้ว่าแต่ละสถานีว่างหรือมีคิวเต็มหรือไม่ และยังสามารถสั่งเริ่มและหยุดการชาร์จได้ผ่านแอปฯ บนสมาร์ทโฟนได้ด้วย ปัจจุบันมีสถานีชาร์จทั้งหมด 188 แห่ง (อัพเดทล่าสุด ต.ค.2565) และตั้งเป้าที่จะติดตั้งเพิ่มรวม 12,000 แห่ง ภายในปี 2573
* อัตราค่าบริการ 8-10 บาท/หน่วย
อัตราค่าบริการ จะขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่และผู้ให้บริการ โดยราคาช่วง On Peak จะอยู่ที่ 8-9 บาท/หน่วย (ราคาเมื่อเดือน พ.ย.2565)
7. on|ion  by Arun+
อีกหนึ่งแอปฯ ที่น่าสนใจจาก อรุณพลัส (Arun+) หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรใน กลุ่ม ปตท.  มีบริการจำหน่ายและติดตั้ง EV Charger ในที่พักอาศัย ที่มีการวางระบบและติดตั้งโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยเน้นพื้นที่ศูนย์การค้าและย่านที่พักอาศัย มีจุดเด่นที่ผู้ใช้บริการ สามารถควบคุมการใช้งานผ่าน on-ion Mobile Application ทั้งจากระบบ Android และ iOS สามารถเลือกสถานีใกล้เคียงที่ต้องการ จากนั้นกดเข้าไปเช็กสถานะและรายละเอียดต่าง ๆ ของจุดชาร์จนั้น ๆ เช่น ประเภทหัวชาร์จ เวลาเปิด-ปิด อัตราค่าบริการ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ เป็นต้น และเมื่อชาร์จเสร็จแล้วสามารถกดจ่ายเงินผ่านแอปฯ ได้ทันที ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสถานีทั้งสิ้น 45 แห่ง
• อัตราค่าบริการ คิดเหมาชาร์จ ชั่วโมงละ 60 บาท

8. SHARGE
แอปฯ SHARGE ของบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด หนึ่งในผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ ด้วยจำนวนสถานีให้บริการมากกว่า 600 แห่ง (ปี 2565) และมีแผนขยายสถานีฯ เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 แห่งในปี 2568 และ ในปี 2573 จะมีสถานีฯ เพิ่มขึ้นเป็น 700,000 แห่ง ซึ่งจุดเด่นของแอปฯนี้ สามารถค้นหาสถานที่ชาร์จที่ครอบคลุมหลายแห่งทั่วประเทศ สามารถจองล่วงหน้าได้สะดวกรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมชำระเงินได้ผ่านหลากหลายช่องทาง อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับแอปฯ พันธมิตร ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า
• อัตราค่าบริการ จะแยกออกเป็น
1 เครื่องชาร์จ AC ขนาด 22 kW Type 2 ค่าบริการชั่วโมงละ 50 บาท
2 เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ DC Fast Charge กำลังสูงสุดถึง 120 kW ราคา 7.5 บาท/หน่วย

9. MG iSMART
แอปฯ MG iSMART ของค่าย MG แบรนด์ที่กำลังมาแรงในวงการรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ซึ่งจะใช้งานควบคู่กับ MG Super Charge สามารถตรวจเช็กรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมฟีเจอร์อื่นๆ ให้สะดวกและปลอดภัย อีกทั้งยังมีระบบตรวจสอบสานะแบตเตอรี่ และการชาร์จ พร้อมค้นหาสถานีชาร์จ MG Super Charge ได้ง่ายๆ ปัจจุบันมีสถานีบริการแล้วกว่า 129 สถานี
• อัตราค่าบริการ คิดราคาเดียวเพียง 7.5 บาท/หน่วย

นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่สามารถหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น

• ChargeLOMA แอพฯ ค้นหาสถานีชาร์จที่คิดค้นและพัฒนาโดยคนไทย ซึ่งค้นหาสถานีชาร์จจากผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งหมดในประเทศไทยได้

• PlugShare แอพฯ ค้นหาสถานีชาร์จจากต่างประเทศ เป็นแอปฯ ที่ผู้ใช้งาน จะเป็นกระบอกเสียงในการแจ้งสถานีชาร์จด้วยตนเองลงไปในแอปฯ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถหาสถานีชาร์จหน่วยย่อยๆ แบบหัวปลั๊กไฟธรรมดาได้ อีกทั้งเมื่อไปขับรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ ก็สามารถดูสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างสะดวกง่ายดาย

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่ว่าจะชาร์จในสถานีใดๆ สิ่งที่ผู้ใช้รถควรตระหนักคือ ควรศึกษารถยนต์ไฟฟ้าจากคู่มือว่าหัวชาร์จรถยนต์เป็นแบบไหน และใช้เวลาในการชาร์จเท่าไร ที่สำคัญ ควรวางแผนการเดินทางก่อนทุกครั้ง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางหรือการหาที่ชาร์จนั่นเอง และเมื่อชาร์จเสร็จทุกครั้งไม่ควรจอดทิ้งไว้นานๆ เพื่อรักษามารยาทในการใช้จุดชาร์จ หรือบางแห่งอาจต้องเสียค่าปรับอีกด้วยนั่นเองค่ะ

 

ที่มา: infoquest