บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง รวมวิธีลดหย่อนภาษีปลายปี 2567 กันนะคะ เพราะการจัดการเกี่ยวกับภาษีในช่วงปลายปี 2567 ใกล้มาถึงแล้วนะคะ และเพื่อเป็นการจัดการด้านการเงินต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับยื่นภาษีในปี 2568 นั่นเองค่ะ พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยนะคะว่า วิธีลดหย่อนภาษีปลายปี 2567 จะมีอะไรกันบ้างนะคะ
รวมวิธีลดหย่อนภาษีปลายปี 2567
การคำนวณภาษีเงินได้ จะคำนวณมาจาก “รายได้สุทธิ” ในแต่ละปีของบุคคลนั้น ยิ่งมีรายได้สุทธิมากเท่าไหร่ ก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ก่อนจะมาเป็น “รายได้สุทธิ” นั้น การคำนวณจะมีการหัก “ค่าลดหย่อน” อันเป็นสิทธิทางกฎหมายก่อนนะคะ “ค่าลดหย่อน” ภาษีด้านนึงก็เป็นมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสังคม ขณะที่อีกด้านนึงก็ให้ประโยชน์กับผู้จ่ายภาษีอีกด้วย แล้วค่าลดหย่อนของปีนี้จะมีอะไรบ้าง ? มาดูกันเลยค่ะ
สำหรับกลุ่มส่วนตัวและครอบครัว
– ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท สิทธิพื้นฐานของแต่ละบุคคลในการได้รับการลดหย่อน เมื่อบุคคลมีรายได้ต่อปีมากกว่า 150,000 บาทขึ้นไป จะต้องชำระภาษีเงินได้ที่จะมีอัตราเพิ่มขึ้นตามเงินสุทธิที่มากขึ้น ทุกคนได้รับการลดหย่อนนี้โดยอัตโนมัติ
– ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้เฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่ฝ่ายหนึ่งต้องไม่มีรายได้ และสามารถใช้ได้สูงสุด 1 คนเท่านั้น – ค่าลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูบุตร คนละ 30,000 บาท สามารถใช้สิทธิ์ส่วนนี้ได้ต้องเป็นบุตรโดยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว (บุตรบุญธรรมไม่เกิน 3 คน) และต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือกรณีเกิน 25 ปีแล้ว แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถยังคงสามารถลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท
– ค่าฝากครรภ์ + คลอดบุตร 60,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และทำคลอดที่จ่ายให้กับสถานพยาบาบไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน สามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท ทั้งนี้ หากมีการยื่นภาษีของสามีและภรรยา จะใช้สิทธิ์กับภรรยาเท่านั้น
– เลี้ยงดูพ่อแม่ไม่มีรายได้ (คนละ) 30,000 บาท การเลี้ยงดูพ่อแม่ทั้งของตัวเองและของคู่สมรสสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้น พ่อแม่บุญธรรม และสามารถใช้สิทธิ์ได้สูงสุดไม่เกิน 4 คน และลดหย่อนได้ไม่เกิน 120,000 โดยพ่อแม่ต้องอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท กรณีมีพี่น้องสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
– ดูแลผู้พิการ (คนละ) 60,000 บาท ผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพที่ได้รับการอุปการะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ พร้อมทั้งมีหนังสือรับรองการอุปการะ ในกรณีผู้พิการเป็นพ่อแม่ บุตรหรือคู่สมรสก็สามารถได้สิทธิลดหย่อนสามารถทั้งสองส่วนได้ กลุ่มประกันและการลงทุน
– ประกันสังคม 9,000 บาท ใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 9,000 บาท – ประกันสุขภาพพ่อแม่ 15,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุด 15,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำกัดว่าต้องอายุมากกว่า 60 ปี
– ประกันสุขภาพ 25,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 25,000 บาท
– ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ 100,000 บาท เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท (รวมกับประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุสูงสุด 100,000 บาท ด้วย) ทั้งนี้ ประกันชีวิตจะต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ทำประกันกับบริษัทในประเทศไทย และหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไขไม่สามารถลดหย่อนได้
กองทุนเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณอายุ 500,000 บาท
การลงทุนสำหรับการวางแผนเกษียณอายุสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ถึงตอนนี้มีหลากหลายรูปแบบ มีเงื่อนไขแตกต่างกันไปอาจเป็นระยะเวลาการถือครอง การได้ผลประโยชน์ การฝากเงินเอาไว้ในระยะยาว รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท ได้แก่
– กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF – Retirement Mutual Fund) ไม่เกิน 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี หรือปีเว้นปี ไม่มีกำหนดขั้นต่ำในการซื้อ และต้องถือจนกว่าจะอายุครบ 55 ปี ทั้งนี้หากผิดเงื่อนไขจะต้องคืนเงินภาษีตามลักษณะของการผิดเงื่อนไขที่เกิดขึ้น
– กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF – Super Saving Funds) ไม่เกิน 30 % ของรายได้ ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องถือครองครบ 10 ปี นับแบบวันชนวัน ไม่บังคับซื้อทุกปี หากผิดเงื่อนจะมีการลงโทษด้านภาษีเช่นกัน – กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ไม่เกิน 15% ของรายได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
– กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ไม่เกิน 30% ของรายได้ ไม่เกิน 500,000 บาท – กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จ่ายตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท
– กองทุน Thai ESG 300,000 บาท กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจยั่งยืน สามารถลดหย่อนภาษีได้ 30 % ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท โดยมีเงื่อนไขการถือครอง 5 ปี นับวันชนวัน การลงทุนสำหรับเกษียณอายุช่วยลดหย่อนภาษีได้
กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
– Easy e-Receipt 2567 ลดหย่อนได้ 50,000 บาท สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 50,000 บาท โดยลดหย่อนจากการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 สินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือรวมถึง E-Book
– เที่ยวเมืองรอง 2567 ลดหย่อนได้ 15,000 บาท ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับจังหวัดรอง 55 จังหวัด ประกอบด้วยค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ ค่าแพ็คเกจทัวร์ ค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567 โดยใช้หลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
พื้นที่เมืองรอง 55 จังหวัดมีดังนี้
– ภาคเหนือ 16 จังหวัด เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี และพะเยา
– ภาคอีสาน 18 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ
– ภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันตก 12 จังหวัด ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก สระแก้ว ตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี ชัยนาท อ่างทอง และสิงห์บุรี
– ภาคใต้ 9 จังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี
– ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย 100,000 บาท
– ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
– ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 100,000 บาท “ค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่” สามารถลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก ๆ 1 ล้านบาท (รวม VAT แล้ว) รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท โดยจำกัดค่าก่อสร้างบ้านใหม่ไม่เกิน 1 หลัง สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568 กลุ่มเงินบริจาค
– เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10 % ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษีแล้ว เงินบริจาคในประเภทนี้มักเป็นวัด โรงเรียนเอกชน โรงพยาบาลเอกชน องค์การของรัฐบาล มูลนิธิต่าง ๆ โดยต้องตั้งอยู่ในประเทศไทย องค์กรที่อยู่ต่างประเทศไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
– เงินบริจาคเพื่อสังคม ลดหย่อน 2 เท่าจากจ่ายจริง เงินบริจาคที่บริจาคให้กับหน่วยงานด้านการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://epayapp.rd.go.th/rd-edonation/portal/for-donation-unit แต่ละปีอาจไม่เหมือนกัน และมีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนด้วย สามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าจากที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10 % ของเงินได้หลังหักภาษี
– เงินบริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท ใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 10,000 บาท
ขั้นตอนการยื่นภาษี จัดเตรียมเอกสารที่จำเป็น
1. หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
2. รายการลดหย่อนภาษีทั้งปีที่ต้องรวบรวมไว้ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร เลี้ยงดูพ่อแม่
3. เอกสารลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เพื่อให้กรอกข้อมูล เช่น ใบกำกับภาษี ใบรับรองการบริจาคเงิน
ยื่นภาษีสามารถยื่นได้ 3 ช่องทาง
1. ยื่นภาษีได้ที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรในพื้นที่
2. ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านระบบ E-Filing ของกรมสรรพากร ได้ที่
3. ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชั่น RD Smart Tax ของกรมสรรพากร ต้องลงทะเบียนกับเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก่อนเปิดใช้งาน
ที่มา : ข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก กรมสรรพากร