ดัชนีความร้อน หมายถึง ค่าที่ได้จากการนำอุณหภูมิของอากาศมาคิดร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์ โดย ดัชนีความร้อนจะสะท้อนว่าร่างกายของคนเรานั้น รู้สึกว่าอากาศร้อนแค่ไหน ที่เป็นเช่นนี้เพราะหากความชื้นสัมพัทธ์สูง เหงื่อจะระเหยยาก ส่งผลให้รู้สึก ร้อนกว่า อุณหภูมิจริงของอากาศจากเครื่องวัดหรือโทรศัพท์นั่นเองค่ะ โดยค่าดัชนีความร้อนนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้

 

 

ตารางแสดงค่าดัชนีความร้อนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (ข้อมูลจาก กรมอนามัย)

– ระดับเฝ้าระวัง 27-31.9 องศาเซลเซียส 
ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อนออกกำลังกาย หรือ ใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน

– ระดับเตือนภัย 32-40.9 องศาเซลเซียส 
ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

– ระดับอันตราย 41-53.9 องศาเซลเซียส 
ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ ตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดท้องเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดดได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

– ระดับอันตรายมากมากกว่า 54 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke)

 

 

 

คาดการณ์ค่าดัชนีความร้อนวันที่ 22 เมษายน 2566

– ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 40.7 องศาเซลเซียส
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 41.0 องศาเซลเซียส
– ภาคกลาง บางนา กทม. ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 51.6 องศาเซลเซียส
– ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 53.8 องศาเซลเซียส
– ภาคใต้ จ.ภูเก็ต ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 49.5 องศาเซลเซียส

คาดการณ์ค่าดัชนีความร้อนวันที่ 23 เมษายน 2566

– ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 46.5 องศาเซลเซียส
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 44.3 องศาเซลเซียส
– ภาคกลาง บางนา กทม. ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 51.3 องศาเซลเซียส
– ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 52.0 องศาเซลเซียส
– ภาคใต้ จ.ภูเก็ต ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54 องศาเซลเซียส

 

 

จะเห็นได้ว่าช่วงเดือนเมษายนปีนี้ อากาศเมืองไทยร้องแรงมากจริงๆนะคะ แถมฝุ่น PM 2.5 ก็ยังสูงมากๆอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องพยายามดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ดีๆนะคะ ขอให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัยและสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ให้ได้นะคะ ต่อไปเรามาดู คำแนะนำในการดูแลสุขภาพในช่วงหน้าร้อนมหาโหดกันดีกว่านะคะ

คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ

– สังเกตอาการตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
– ควรลดเลิกกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
– หากทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม
– หลีกเลี่ยงดื่มชา กาแฟ สุรา น้ำอัดลม
– ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อย
– ที่สำคัญ เตรียมเบอร์โทรศัพท์ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ 1669