โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝนนี้นะคะ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร Enterovirus 71 (EV71) Coxasackie Virus ส่งผลให้มีอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ถือได้ว่าเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อยเลยค่ะ และโรคมือ เท้า ปาก ยังสามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกันนะคะ แต่จะพบได้น้อยกว่า และอาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็กค่ะ

 

 

สังเกตอาการโรค มือ เท้า ปาก  เด็กๆ ที่เป็นโรคมือเท้าปาก มักจะมีอาการดังนี้ค่ะ

• มีไข้ อ่อนเพลีย
• มีแผลในปาก
• ผื่นเป็นจุดแดงขึ้นที่มือ เท้า (อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาร่วมด้วย)

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการ โดยมีอาการเริ่มต้น คือ เด็กจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส เป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนัง บริเวณฝ่ามือ  ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายในค่ะ

 

 

โรคมือ เท้า ปาก สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วันนะคะ แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรครุนแรงได้ เช่น ก้านสมองอักเสบ หัวใจอักเสบ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้อีกด้วยค่ะ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสสายพันธุ์ 71 (EV71) จะทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ มีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ กล้ามเนื้อกระตุก และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วนเลยนะคะ ซึ่งอาการแทรกซ้อนจะไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเลยนะคะ

 

 

การติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และจากการสัมผัสทางอ้อมผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำ และอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยส่วนใหญ่มักพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก
โรคมือ เท้า ปาก สามารถเป็นซ้ำได้อีก ถ้าได้รับเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่เคยเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกันก็ตามค่ะ

 

มีวิธีการรักษา และป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก

โดยทั่วไปแล้ว อาการโรค มือ เท้า ปาก จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยแพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ เช่น การให้รับประทานยาแก้ไข้ ในรายที่เพลียมากแพทย์อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด ยารักษาแผลในปาก และให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็น ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อย่างที่ทราบกันนะคะว่าโรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้ผ่านการรับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าไป คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขอนามัยให้กับเด็กๆเสมอนะคะ

 

มีวิธีป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก

– สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน
– สอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง ให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล
– ทำความสะอาดของเล่น
– ดูแลความสะอาดของน้ำดื่มและอาหาร
– หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ
– ไม่พาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค
– หากเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดเรียน และพักรักษาให้หายป่วยเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อยังเด็กคนอื่นๆ และผู้ปกครองต้องรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ และที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว

 

เสริมเกราะป้องกันด้วยวัคซีน

 

โรคมือ เท้า ปาก ระบาด ป้องกันได้ ด้วยวัคซีนป้องกัน โรคมือเท้าปาก (EV71) นะคะโดยแนะนำให้รับวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน

วัคซีนป้องกัน “โรคมือเท้าปาก” รุนแรง จากไวรัส EV71 (EntroVac)

• ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมือเท้าปากที่มาจากการติดเชื้อ EV71 ได้ 97.3%
• ประสิทธิภาพการป้องกันโรคมือเท้าปากจากเชื้อ EV71 ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล 88.0%
• ประสิทธิภาพการป้องกันโรคมือเท้าปากรุนแรงจากเชื้อ EV71 ได้ 100%
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังรับวัคซีน ได้แก่ ปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีด, ไข้, คลื่นไส้ อาเจียน, ถ่ายเหลว, ปวดศีรษะ

โดยเด็กสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 5 ปี 11 เดือน 29 วัน
วัคซีนนี้ไม่สามารถใช้เพื่อป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่มีสาเหตุจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น (รวมถึง Coxasackie Virus A16 และอื่นๆ)

 

ที่มา : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย , กระทรวงสาธารณสุข